Background



ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
8 มีนาคม 2564

0


ประวัติความเป็นมา

ประวัติ “บ้านมาบอำมฤต”
     จากการสืบหาและสอบถามผู้ใหญ่หลายๆ ท่านเกี่ยวกับความเป็นมาบ้านมาบอำมฤต ความว่าบ้านมาบอำมฤตเดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ตั้งอยู่ทางภาคใต้ตอนเหนือ มีถนนเอเชียขึ้นเหนือล่องใต้ มีทางรถไฟสายใต้เป็นประตูสู่ภาคใต้ที่สำคัญบ้านมาบอำมฤตมีพื้นที่ราบที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง คุณสมบัติอีกประการของบ้านมาบอำมฤตที่สำคัญ คือมีการเมืองการปกครองที่สงบสุข สมัครสมานสามัคคี คนมีน้ำใจ พื้นที่ก็เหมาะสมเป็นที่ดึงดูดใจของคนทั่วไป ต่อมานายซือปก แซ่ผ่าง,นายจุงเต้ง แซ่เอียะ,นายฺฮิงคุง แซ่เอียะ,นางพุงกู้ แซ่ตู้,นายกวนสุ่น แซ่ผ้าง,นายซือจิ้ว แซ่เอียะและนายอุงอิว แซ่ลิ้ม เป็นคนจีนจากเมืองฟุโจวหรือฮกจิว ประเทศจีนกลุ่มแรกที่เดินทางมาจากตำบลนาบอนและหมู่บ้านจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช มาถึงบ้านมาบอำมฤต และได้พบกับกำนันตำบลมาบอำมฤต ชื่อนายชื่น เนตรสมศรี ท่านได้พาไปดูพื้นที่ในการเกษตรกรรม แล้วก็ได้จับจองและบุกเบิกทำสวนยางพารา โดยการช่วยเหลือสนับสนุนของคุณโกเอ็ก ศิริวิโรจน์ ตั้งแต่นั้นมาผู้บุกเบิกพื้นที่การเกษตรได้ชักชวนญาติพี่น้องจากบ้านนาบอนและบ้านจันดีมาทำสวนยางพาราที่บ้านมาบอำมฤต ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๐๐ ในขณะนั้น พื้นที่บ้านมาบอำมฤตเป็นป่ารกทึบไม่มีถนนรถวิ่งมีแต่ทางเกวียน การคมนาคมต้องอาศัยเดินด้วยเท้า การขนส่งอาศัยเทียมเกวียนอย่างเดียว ถึงแม้จะมีความลำบาก คนฟูเจาหรือคนฮกจิวชุดนี้มีใจแน่วแน่จะมาสร้างอนาคต ที่บ้านมาบอำมฤต สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศ การเจ็บไข้ได้ป่วยและอุปสรรคนานัประการและมีความเชื่อมั่นและเต็มไปด้วยความหวัง สร้างสวนยาพาราแปลงแล้วแปลงเล่า ปลูกผลไม้ ปาล์มน้ำมัน สร้างศาลเจ้าตั่วแปะกงอธิฐานขอพรจากตั่วแปะกง ให้คุ้มครองหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าอยู่ในระดับหนึ่ง  ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เกิดภัยธรรมชาติครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ๑๐๐ ปี พายุไต้ฝุ่น“เกย์” ได้ทำลายบ้านเรือน ในหมู่บ้านมาบอำมฤตอย่างมากมาย ความเสียหายสุดที่จะคณานับสวนพังพินาศหมดสิ้น ไม่มีเหลือแต่ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาล และความช่วยเหลือจากทุกๆ ด้านจากกลุ่มคนเชื้อสายไทย-จีน ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ด้วยความยากลำบากอย่างไม่ยอมแพ้  สร้างบ้านเรือนและสวนขึ้นมาใหม่ ในปัจจุบันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิดเป็นจำนวนมาก มีผลไม้ ปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจความเจริญมีให้เห็นปรากฏอีกครั้งหนึ่ง
     “บ้านมาบอำมฤต” จากการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ทราบว่าในสมัยก่อนได้มีการก่อสร้างสถานีรถไฟขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕  ซึ่งปัจจุบันที่ดินและภูเขานั้นเป็นสุสานป่าช้าจีน อยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีต้นมะม่วงป่าอยู่บนภูเขา ๒ ต้น  จึงได้ตั้งชื่อสถานีรถไฟตามต้นมะม่วงว่า “สถานีรถไฟบ้านเขาม่วง” ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเขาม่วง หมู่ที่ ๑ ตำบลดอนยาง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร มีผู้ใหญ่บ้านชื่อขุนจบ ภราดร มีภรรยาชื่อ นางยี่สน สุนทรหงส์ และได้เสียชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนจาก“สถานีรถไฟบ้านเขาม่วง” เป็นสถานีรถไฟเขามะปริด” ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านมาบอำมฤต ชื่อนายพล้อย เฉยเชือน กำนันชื่อ นายชื่น เนตรสมศรี สาเหตุที่เรียกสถานีรถไฟเขามะปริด เนื่องจากมีต้นมะปริดใหญ่อยู่บนเขา ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) และทราบว่าถ้ามีคนจากท้องถิ่นอื่นเข้ามาอาศัยอยู่ในขณะนั้นก็จะไม่สบายและเสียชีวิตกันทั้งครอบครัวเนื่องจากมีไข้ป่า(มาลาเรีย) จะอยู่ได้เฉพาะคนที่อยู่เดิมเท่านั้น ซึ่งความเชื่อในสมัยนั้นน่าจะมาจากคำว่า“ปริด”หรือ“ปลิด”หมายถึง สิ้นชีวิตหรือตายในสมัยนั้นสถานีรถไฟเขามะปริด มีโรงเลื่อยไม้ของคนจีน ชื่อ แป๊ะย้าว(ตั้งอยู่บริเวณธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามาบอำมฤตในปัจจุบัน) เป็นโรงเลื่อยไม้ที่ใช้เลื่อยนั้นเป็นไม้หลุมพอ มีลูกจ้างเป็นคนจีน ชื่อโก๊ยฉ่าย,แป๊ะหยุ่ง ได้เสียชีวิตหมดแล้ว บ้านในขณะนั้นมีจำนวนไม่มากนัก บ้านที่ขายของคือแป๊ะย่าว ซึ่งขายของชำ มีภรรยาชื่อนางสน เป็นคนบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาได้มีหมอขุนทอ กำเนิดเพชร หมอทหารได้มาตั้งโรงเลื่อยขนาดเล็ก และได้ขายให้กับเถ้าแก่ยูเส็ง ในเวลาต่อมาจากนั้นได้มีการตั้งโรงเลื่อยขึ้นใหม่ของ นายโกเอ็ก สามีของนางวิบูลย์ ศิริวิโรจน์ ซึ่งตั้งอยู่ในปัจจุบัน ทำให้โรงเลื่อยของเถ้าแก่ยูเส็งในสมัยนั้นก็ต้องมีอันปิดไป
     เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้ออกกฎหมายใหม่ ๑ ฉบับ ความว่า ลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในเมืองไทยมีสัญชาติไทยมีสิทธิ์ที่ดินทำกินได้ไม่เกินคนละ ๕๐ ไร่ จากนั้นชาวจีนที่อาศัยอยู่ตำบลนาบอนและครองจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้แสวงหาทำ การเกษตรกรรมแหล่งใหม่ๆ ในต่างจังหวัด บางกลุ่มก็ลงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่นอำเภอขนอมและที่ไชยา ท่าชนะ ละแม อีกกลุ่มก็ไปที่ชุมพร นำโดยนายน้งแกะ แซ่เอียก เขาบอกว่าเขามีเพื่อน ทำโรงเลื่อยอยู่ที่มะลิด ก็ได้ชักชวน นายซุยป๊อก แซ่ผ่าง, นายวิสิทธิ์ แซ่เอี้ยก และนางเงียงเจียว แซ่ก๊ง(เถ้าแก่ขาว) มาลงที่สถานีชุมพร และมาพักที่โรงแรมชุมพร คือ โรงแรมเฮงไทย เจ้าของโรงแรมก็เป็นคนจีนด้วยกันก็ถามถึงจุดประสงค์ที่มากัน เมื่อคุยกันพอรู้เรื่องเจ้าของโรงแรมบอกว่ามีกำนันมะริดมาพักที่โรงแรมนี้ด้วย จึงได้พาพวกทั้งคณะ ๔ คน ไปรู้จักกับกำนัน ซึ่งเขาคนนนั้นคือ กำนันชื่น เนตรสมศรี ทำไม้ฟืนหลาให้กับรถไฟ เขาบอกว่ามะริดมีที่ดินว่างเปล่ามากมาย แต่เป็นทุ่งหย้าคา ถ้าสนใจพรุ่งนี้จะพาไปดู จากนั้นวันรุ่งขึ้นกำนันก็พาคณะทั้ง๔ คน มาขึ้นรถไฟที่สถานีชุมพร มาลงที่สถานีมะริดแล้วพาเดินดูที่พอสังเขป และก็พามาพบกับโกเอ็ก เจ้าของโรงเลื่อยพูดคุยกันถึงจุดประสงค์ที่มาในครั้งนี้ โกเอ็กเจ้าของโรงเลื่อยดีใจจึงรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ที่จะให้ช่วยจากพวกคณะทั้ง ๔ คน ได้กลับมารถไฟมาค้างแรมที่ชุมพรอีก รุ่งเช้าก็ได้พบโกเอ็กเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้นายอำเภอฟัง นายอำเภอก็รับปากว่าจะทำหนังสือเปิดป่าไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในสมัยนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ชื่อนายสงค์ มีมุดทา แล้วพวกคณะทั้ง ๔ คน ก็ได้แยกย้ายกับโกเอ็กเจ้าของโรงเลื่อยแล้วเดินทางกลับนาบอน เพื่อไปเตรียมหาหลักฐานทะเบียบบ้าน และทะเบียบทหารกองเกินมายื่นขอจับจองที่ดิน จากนั้นประมาณ ๒ เดือน ก็มีการเอาหลักฐานมายื่นขอใบจองประมาณ ๑๑ รายในครั้งแรก ได้สร้างความหนักใจให้กับพนักงานที่ดินมาก เพราะคนที่เอาหลักฐานมายื่นขอออกในจองที่ดินนั้น เขียนและพูดภาษาไทยไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ประกอบกับผู้ใหญ่บ้านคือ ผู้ใหญ่พร้อย เฉยเชือน ไม่รู้หนังสือ เพราะใบการออกจับจองที่ดินแต่ละแปลงจะต้องให้ผู้ใหญ่รับรองเมื่อเป็นเช่นนั้น คุณวิสุทธิ์ แซ่เอี้ย หรือคนทั่วไปเรียกว่าผู้จัดการ ได้ขอให้นายประเสริฐ ชัยอนันต์ และคุณวิเชียร ตั้งสุภากิจ มาช่วยเดินเรื่องและเขียนคำร้องทำการออกใบจับจอง จากนั้นก็มีชาวจีนฟุโจว พากันมาไม่ขาดสาย จนถึงปัจจุบันชาวฟุโจวสามารถขยายพื้นที่ทำสวนยางพารา ประมาณ ๒ แสนกว่าไร่ สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท
     ในปัจจุบันนี้บ้านมาบอำมฤตได้พัฒนาสภาพความเป็นชุมชนเมืองกึ่งเกษตรกรรมประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นบริเวณชุมชนตลาด และมีแนวโน้มขยายตัวออกไปโดยรอบส่งผลให้มีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน  รวมถึงศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ท่องที่มีการลงทุนและการจ้างงาน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมสินค้าทางการเกษตร และประชาชนมี รายได้มาจากภาคเกษตรและภาคธุรกิจ